Monday, February 9, 2009

ก้อนที่เต้านม คลำเจอ รุดหาหมด ตรวจซีสต์ –มะเร็ง

ก้อนที่เต้านม คลำเจอ รุดหาหมด ตรวจซีสต์ –มะเร็ง

วันก่อนมีสุภาพสตรีคนหนึ่งอายุ 27 ปี เล่าให้ฟังว่า คลำที่เต้านม แล้วพบก้อนขนาดประมาณหัวแม่มือ ก็เลยรีบไปหาหมอ แต่หมอคลำดูแล้วก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ เพราะต้องรอผลเอกซเรย์ประกอบด้วย ระหว่างนี้ก็เลยกินไม่ได้นอนไม่หลับ เครียดไปพอสมควร

ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านม “X-RAY สุขภาพ” จึงมาพูดคุยกับ พ.ญ.เยาวนุช คงด่าน อาจารย์ประจำคลินิกโรคเต้านมและต่อมไร้ท่อ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

พ.ญ.เยาวนุช กล่าวว่า ถ้าหากผู้หญิงคนหนึ่งมาหาหมอเพราะคลำเจอก้อนที่บริเวณเต้านม ถามว่าจะเป็นอะไรได้บ้าง โดยมากก้อนที่เต้านมจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ก้อนที่เป็นมะเร็ง และก้อนที่ มิใช่มะเร็ง แต่ถ้าจะแบ่งตามลักษณะของก้อน ก็จะแบ่งว่า เป็นก้อนเนื้อ (solid tumor) หรือก้อนน้ำ หรือซีสต์ (cyst) ซึ่งซีสต์พบมากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ขนาดมีได้ต่าง ๆ กันอาจแค่ 2 มิลลิเมตร หรือใหญ่ถึง 4-5 เซนติเมตร ก็ได้ แต่พอพูดถึงซีสต์คนไข้มักจะฝังใจว่า ซีสต์ เป็นก้อนเนื้อ หรือมะเร็ง แต่จริง ๆ แล้วมิใช่

ในกรณีที่เป็นซีสต์ มักจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะซีสต์ก็คือถุงน้ำ ส่วนใหญ่ก็มิใช่มะเร็ง สาเหตุของซีสต์เกิดจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุล คือ ทุกเดือนผู้หญิงเตรียมพร้อมที่จะมีลูกอยู่แล้ว ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นก็ไปกระตุ้นให้เซลล์ต่อมน้ำนมให้แบ่งตัวมากขึ้นเพื่อผลิตน้ำนม แต่ปริมาณไม่เยอะ พอมาถึงหัวนมก็แห้ง ถ้าการกระตุ้นตรงนี้เยอะ หากไข่ไม่ได้รับการผสมฮอร์โมนตก ก็จะยุบลง แต่ถ้าไม่ยุบหรือเยอะเกินไปก็อาจจะกลายเป็นถุงน้ำได้ แต่จะมีซีสต์อยู่กลุ่มหนึ่งที่อาจเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งได้ เนื่องจากมีก้อนเนื้ออยู่ภายในซีสต์ แต่ก็เป็นส่วนน้อย ส่วนก้อนเนื้อที่พบบ่อย คือ ก้อนเนื้อ หรือเนื้องอกธรรมดา เรียกว่า ไฟโบรอะดีโนมา (fibroadenoma) ส่วนอีกชนิดที่กลัวกันมากก็คือก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็ง

ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าก้อนซีสต์ดังกล่าวเป็นน้ำหรือเนื้อ วิธีง่าย ๆ คือ แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาเล็ก ๆ เจาะและดูดออกมา หรืออาจจะทำอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าเป็นน้ำหรือเป็นเนื้อ ถ้าหากเอาเข็มเจาะเข้าไปแล้วดูดออกมา เป็นน้ำสีเหลือง หรือสีเขียวใส ๆ ไม่มีเลือดปนก็น่าจะเป็นซีสต์ธรรมดาไม่มีเนื้องอกในซีสต์ แต่ถ้าดูดออกมาแล้วมีเลือด ต้องระวังแล้วว่าภายในซีสต์มีเนื้องอกอยู่หรือเปล่า

ถ้าเป็นซีสต์ธรรมดาแพทย์จะทำการดูดเอาน้ำออกให้หมดแล้วคลำใหม่ ถ้าคลำไม่เจอก้อนแสดงว่าซีสต์ไม่น่ากลัว เป็นถุงน้ำธรรมดา แต่ถ้าดูดน้ำออกจนหมดแล้วทำการคลำแล้วยังมีก้อนเหลืออยู่ แสดงว่าอาจจะเป็นก้อนเนื้องอกอยู่ในซีสต์ ถ้าเป็นแบบนี้ถึงจะน่าตกใจ แต่ก็พบได้น้อย เพราะคนไข้ส่วนใหญ่พอใช้เข็มเจาะเอาน้ำออกซีสต์ก็ยุบไป

ในกรณีที่เป็นก้อนเนื้อ ใช้เข็มเจาะเข้าไปจะไม่ได้น้ำเลย แต่จะทำการดูดเซลล์ออกมา เพื่อนำไปย้อมดูว่าเป็นเซลล์ชนิดไหน ขณะเดียวกันแพทย์จะส่งคนไข้ไปเอกซเรย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าอายุมากหรืออายุน้อย ถ้าอายุน้อยยังไม่ถึง 35 ปีก็อาจจะทำอัลตราซาวด์อย่างเดียว แต่ถ้าอายุมากเกิน 35 ปีไปแล้วอาจจะทำทั้งแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ สาเหตุที่ไม่ทำแมมโมแกรมในคนที่อายุน้อยเพราะว่าเนื้อเต้านมยังแน่น การทำฟิล์มแมมโมแกรมบางทีมองไม่เห็นเพราะเห็นเป็นสีขาวเต็มไปหมด อัลตราซาวด์อย่างเดียวก็พอ จากนั้นนำผลที่ได้มาประกอบการวินิจฉัย

กรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง การคลำโดยแพทย์ที่มีประสบ การณ์ก็จะพอบอกได้ แต่การวินิจฉัยจะต้องนำเซลล์ที่ใช้เข็มฉีดยาดูดออกมาไปเรียกว่าทำ ไฟน์นีดเดิล แอสพิเรชั่น (Fine Needle Aspiration: FNA) และดูผลเอกซเรย์ประกอบด้วย รวมเรียกว่า ทริปเปิลเทสต์

เวลามีก้อนสิ่งสำคัญเลย คือ แพทย์จะต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นมะเร็ง หรือเปล่า ถ้าเป็นซีสต์ก็จบเลยไม่ต้องผ่าตัด แค่เอาเข็มเจาะ เอกซเรย์ก็พอแล้ว แต่บางครั้งการใช้เข็มฉีดยาเล็ก ๆ เจาะเข้าไปเอาเซลล์เล็ก ๆ มาตรวจสอบแล้วไม่ได้คำตอบ จะต้องใช้เข็มที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเจาะเข้าไป ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อเยอะขึ้น มาเป็นแท่ง ๆ เลยความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร แล้วนำมาตรวจดูว่าใช่มะเร็งหรือไม่ ถ้าเป็นมะเร็งก็จะต้องรักษาแบบมะเร็ง แต่ถ้าดูแล้วไม่เป็นมะเร็งน่าจะเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ถ้าก้อนใหญ่ 2-3 เซนติเมตรก็ควรผ่าเอาก้อนเนื้อออก แต่ถ้าก้อนเล็กมาก ๆ น้อยกว่า 1 เซนติเมตร หรือ 1-2 เซนติเมตร ก็ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่ากังวลหรือไม่ แต่แพทย์จะมีผลยืนยันว่าไม่ใช่มะเร็งนะ ถ้ากังวลก็เอาออก แต่ถ้าไม่กังวลก็ติดตามดูอาการต่อไป

ถ้าเป็นถุงน้ำอย่างเดียวแล้วใช้วิธีการผ่าตัด ถามว่าคุ้มมั้ย ก็ต้องบอกว่าไม่คุ้ม เพราะแม้จะผ่าตัดออกแล้วอาจจะเป็นตรงจุดอื่นได้อีก ทำให้กลายเป็นว่าคนไข้มีแผลที่เต้านมเต็มไปหมด สมัยก่อนคนที่เป็นซีสต์มาพบแพทย์ ด้วยความที่ยังไม่มีการเอกซเรย์ พอมีก้อนไม่รู้ก็ผ่าตัดเอามาดู แต่ตอนนี้การผ่าตัดน้อยลง แพทย์จะใช้เข็มเจาะดูก่อนว่าเป็นอะไร ทำให้ลดเปอร์เซ็นต์คนไข้ที่จะต้องผ่าตัดลงได้ถึง 80%

ถ้าปล่อยซีสต์ทิ้งไว้ไม่รักษามีโอกาสจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ? พ.ญ. เยาวนุช กล่าวว่า ซีสต์ธรรมดาไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็ง เว้นแต่ซีสต์ที่ข้างในเป็นเนื้องอก ดังนั้นการทำ FNA จะเป็นตัวบอกว่าเป็นซีสต์ธรรมดาหรือเป็นเนื้องอก ความจริงแล้วซีสต์เป็นโรคที่ไม่น่ากลัว แต่เป็นโรคที่น่ารำคาญใจสำหรับคนไข้มากกว่า เพราะว่าตัวโรคที่เป็นซีสต์ไม่ค่อยหาย แต่คนไข้จะกังวลอยากให้ผ่าตัดเอาออก คนเป็นซีสต์ที่มาหา หมอ ส่วนหนึ่งเพราะคลำเจอก้อน แต่อีกกลุ่มหนึ่งมาเพราะมีอาการปวด โดยเฉพาะก่อนมีประจำเดือนจะปวดมาก เวลาปวดก็ต้องดูว่าปวดมาก หรือน้อย ถ้าปวดมากก็ให้ทานยาแก้ปวดทั่ว ๆ ไป หรือทานอาหารเสริมบางชนิด แต่ถ้าปวดมากจนรบกวนการดำเนินชีวิต ในกลุ่มนี้จะให้ยาลักษณะต้านฮอร์ โมน แต่จะไม่ให้ทุกราย เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เว้นแต่รายจำเป็นจริง ๆ ถ้าปวดไม่มากก็แนะนำให้ไปออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการทานอาหารประเภทที่มีไขมันเยอะ หลีกเลี่ยงการเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เพราะมีการศึกษาพบว่า ในคนที่มีซีสต์ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมาก ๆ อาการปวดอาจจะมากขึ้น

ก้อนซีสต์และมะเร็งจะต่างกันอย่างไร ? พ.ญ.เยาวนุช อธิบายว่า ถ้าเป็นซีสต์ก้อนจะนิ่ม ๆ แต่ถ้าซีสต์ที่มีเนื้องอกอยู่ข้างใน ที่เรียกว่า ไฟโบรอะดีโนมา ก้อนจะแข็งขึ้นมาอีกนิด แต่ไม่ถึงกับแข็งมาก แต่ถ้าเป็นมะเร็งจะแข็งมากและขรุขระ การคลำโดยแพทย์ที่ชำนาญก็พอจะบอกได้คร่าว ๆ แต่ไม่ 100% ดังนั้นต้องทำการเอกซเรย์เต้านมและนำเซลล์ไปตรวจด้วย

นอกจากผู้หญิงที่คลำได้ก้อนบริเวณเต้านมแล้ว ในผู้ชายถ้าคลำแล้วพบก้อนที่เต้านม พ.ญ.เยาวนุช บอกว่า ควรรีบมาตรวจ เพราะถ้าผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมมักจะรุนแรงกว่าผู้หญิง โดยใน 100 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมจะเป็นผู้ชายซัก 1 คน ดังนั้นถ้าพบก้อนอย่าเพิกเฉยว่าเป็นก้อนธรรมดา

กะเทยที่กินฮอร์โมน หรือยาคุม เพื่อให้นมโตเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่เต้านมหรือไม่ ? พ.ญ.เยาวนุช กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งในกะเทยยังมีน้อย จึงยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ชัดเจน ถามว่ามีโอกาสเสี่ยงมั้ย ถ้าเทียบเคียงกับผู้หญิงที่ทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนมากกว่า 5 ปี หรือ 10 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมชัดเจน เพราะฉะนั้นในกลุ่มที่เป็นกะเทย ที่นิยมซื้อยาคุมมากินและกินนานถ้าเทียบเคียงกับผู้หญิงที่กินยาคุมติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วน่าจะเพิ่มความเสี่ยง

ท้ายนี้อยากแนะนำสุภาพสตรีทุกคน คือ ถ้าเริ่มมีประจำเดือนเมื่อไหร่ ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเองทุก ๆ เดือน รวมทั้งคลำบริเวณรักแร้ว่า มีอะไรผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีอะไรผิดปกติไม่แน่ใจควรรีบมาพบแพทย์ ถ้าอายุเกิน 20 ปีไปแล้วทุก ๆ 3 ปีควรมาให้แพทย์ช่วยตรวจดู ส่วนการทำแมมโม แกรมนั้น จะเริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปไว้สักครั้ง และหลังจากอายุ 40 ปีไปแล้วจึงค่อยทำทุก ๆ 1-2 ปี.

No comments:

Post a Comment