Monday, February 9, 2009

การผ่าตัดก้อนเต้านมไม่ร้ายแรง

การผ่าตัดก้อนเต้านมไม่ร้ายแรง

ในกรณีที่วินิจฉัยว่าเป็นก้อนเนื้อในเต้านมและน่าจะเป็นเนื้องอกไม่ร้ายแรง ศัลยแพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดออกเมื่อก้อนมีขนาดเหมาะสม ไม่เล็กเกินไป เพราะจะทำได้ยากเนื่องจากคลำตำแหน่งก้อนลำบาก ขณะเดียวกันก็จะไม่รอจนก้อนใหญ่มากซึ่งจะทำให้แผลผ่าตัดขนาดใหญ่โดยใช่เหตุ เนื้องอกมักโตช้าๆ และส่วนมากไม่กลายไปเป็นเนื้อร้าย การผ่าตัดมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาก้อนออก และจะได้ส่งตรวจทางพยาธิวิทยาให้ชัดเจน

ทำยังไงดีเมื่อเจอก้อนที่เต้านม

ทำยังไงดี!เมื่อเจอก้อนที่เต้านม
หากท่านคลำเต้านมเป็นประจำและคลำพบเจอก้อนบริเวณเต้านม เพราะก่อนหน้านี้คลำไม่พบ หรือท่านไม่เคยคลำเต้านมเลยแต่เพิ่งรู้สึกว่าเจอก้อนบริเวณเต้านม อย่าเพิ่งวิตกกังวลหรือเครียดไป สิ่งแรกที่ท่านควรทำต่อไปหลังจากคลำพบก้อนที่เต้านมคือ การไปพบแพทย์ อาจจะเป็นแพทย์ประจำตัวท่าน หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจและรักษาต่อไป
ก้อนที่คลำพบเป็นมะเร็งหรือเปล่า?
เรามารู้จักก้อนที่คลำพบเจอบริเวณเต้านมกันดีกว่า ในบรรดาก้อนที่พบที่เต้านมนั้น มีกลุ่มหลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ ซีสเต้านม เนื้องอกเต้านม(ไม่ร้าย) และมะเร็งเต้านม
1. ซีสที่เต้านม คือภาวะที่พังพืด ต่อมและท่อน้ำนมมีปฏิกริยามากเกินไปต่อการกระตุ้นของฮอร์โมนระหว่างการตกไข่ทำให้พังผืดเกาะตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนและหรือมีถุงน้ำเล็กๆ จำนวนมากปะปนอยู่ อาการของโรคคือจะมีก้อนโตขึ้นและเจ็บเต้านมก่อนจะมีประจำเดือนแล้วค่อยๆดีขึ้นเมื่อประจำเดือนหมด
2. เนื้องอกเต้านม (ไม่ร้าย) เป็นเนื้องอกธรรมดาที่มีก้อนแข็งประกอบด้วยพังผืดและเนื้อเยื่อจากต่อมน้ำนม พบบ่อยสุดในวัย 18-35 ปี มักไม่มีอาการเจ็บนอกจากบางครั้งอาจรู้สึกคัดๆเต้านมบ้างก่อนมีประจำเดือนเวลาคลำดูจะรู้สึกว่ามันกลิ้งไปมาได้
3. มะเร็งเต้านม คือ การคลำได้ก้อนภายในเต้านม โดยไม่มีอาการเจ็บปวด เวลาประจำเดือนมาก้อนนี้จะไม่เปลี่ยนขนาดหรือความนุ่มแข็ง อาการอื่นๆ ที่เกิดได้ก็คือ การมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมหรือผิวหนังหรือเต้านมขรุขระไปเหมือนผิวส้ม
แล้วการรักษาก้อนที่เต้านมมีอะไรบ้าง
ถ้าหากเป็นก้อนซีสหรือเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง แพทย์มักจะแนะนำให้สังเกตลักษณะและความผิดปกติของก้อนต่อไป หรือบางรายแพทย์อาจจะพิจารณาโดยการผ่าตัดออก
และจะรู้ได้ไงว่าก้อนนี้เป็นมะเร็งรึปล่าว?
มีวิธีการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้แก่
• แมมโมแกรม (เอ็กซเรย์พิเศษ สำหรับตรวจเต้านม)
• อัลตราซาวนด์(เพื่อแยกว่าเป็นก้อนหรือถุงน้ำ
• ใช้เข็มเจาะเข้าไปในก้อน เพื่อดูดเอาเซลล์มาตรวจหาเชื้อมะเร็ง
• ใช้เข็มขนาดใหญ่เจาะตัดชิ้นเนื้อ ตรวจหาเชื้อมะเร็ง
• ผ่าตัดเอาก้อนออกทั้งหมด เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง
• ผ่าตัดเอาก้อนออกบางส่วน เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง

ก้อนที่เต้านม คลำเจอ รุดหาหมด ตรวจซีสต์ –มะเร็ง

ก้อนที่เต้านม คลำเจอ รุดหาหมด ตรวจซีสต์ –มะเร็ง

วันก่อนมีสุภาพสตรีคนหนึ่งอายุ 27 ปี เล่าให้ฟังว่า คลำที่เต้านม แล้วพบก้อนขนาดประมาณหัวแม่มือ ก็เลยรีบไปหาหมอ แต่หมอคลำดูแล้วก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ เพราะต้องรอผลเอกซเรย์ประกอบด้วย ระหว่างนี้ก็เลยกินไม่ได้นอนไม่หลับ เครียดไปพอสมควร

ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านม “X-RAY สุขภาพ” จึงมาพูดคุยกับ พ.ญ.เยาวนุช คงด่าน อาจารย์ประจำคลินิกโรคเต้านมและต่อมไร้ท่อ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

พ.ญ.เยาวนุช กล่าวว่า ถ้าหากผู้หญิงคนหนึ่งมาหาหมอเพราะคลำเจอก้อนที่บริเวณเต้านม ถามว่าจะเป็นอะไรได้บ้าง โดยมากก้อนที่เต้านมจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ก้อนที่เป็นมะเร็ง และก้อนที่ มิใช่มะเร็ง แต่ถ้าจะแบ่งตามลักษณะของก้อน ก็จะแบ่งว่า เป็นก้อนเนื้อ (solid tumor) หรือก้อนน้ำ หรือซีสต์ (cyst) ซึ่งซีสต์พบมากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ขนาดมีได้ต่าง ๆ กันอาจแค่ 2 มิลลิเมตร หรือใหญ่ถึง 4-5 เซนติเมตร ก็ได้ แต่พอพูดถึงซีสต์คนไข้มักจะฝังใจว่า ซีสต์ เป็นก้อนเนื้อ หรือมะเร็ง แต่จริง ๆ แล้วมิใช่

ในกรณีที่เป็นซีสต์ มักจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะซีสต์ก็คือถุงน้ำ ส่วนใหญ่ก็มิใช่มะเร็ง สาเหตุของซีสต์เกิดจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุล คือ ทุกเดือนผู้หญิงเตรียมพร้อมที่จะมีลูกอยู่แล้ว ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นก็ไปกระตุ้นให้เซลล์ต่อมน้ำนมให้แบ่งตัวมากขึ้นเพื่อผลิตน้ำนม แต่ปริมาณไม่เยอะ พอมาถึงหัวนมก็แห้ง ถ้าการกระตุ้นตรงนี้เยอะ หากไข่ไม่ได้รับการผสมฮอร์โมนตก ก็จะยุบลง แต่ถ้าไม่ยุบหรือเยอะเกินไปก็อาจจะกลายเป็นถุงน้ำได้ แต่จะมีซีสต์อยู่กลุ่มหนึ่งที่อาจเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งได้ เนื่องจากมีก้อนเนื้ออยู่ภายในซีสต์ แต่ก็เป็นส่วนน้อย ส่วนก้อนเนื้อที่พบบ่อย คือ ก้อนเนื้อ หรือเนื้องอกธรรมดา เรียกว่า ไฟโบรอะดีโนมา (fibroadenoma) ส่วนอีกชนิดที่กลัวกันมากก็คือก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็ง

ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าก้อนซีสต์ดังกล่าวเป็นน้ำหรือเนื้อ วิธีง่าย ๆ คือ แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาเล็ก ๆ เจาะและดูดออกมา หรืออาจจะทำอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าเป็นน้ำหรือเป็นเนื้อ ถ้าหากเอาเข็มเจาะเข้าไปแล้วดูดออกมา เป็นน้ำสีเหลือง หรือสีเขียวใส ๆ ไม่มีเลือดปนก็น่าจะเป็นซีสต์ธรรมดาไม่มีเนื้องอกในซีสต์ แต่ถ้าดูดออกมาแล้วมีเลือด ต้องระวังแล้วว่าภายในซีสต์มีเนื้องอกอยู่หรือเปล่า

ถ้าเป็นซีสต์ธรรมดาแพทย์จะทำการดูดเอาน้ำออกให้หมดแล้วคลำใหม่ ถ้าคลำไม่เจอก้อนแสดงว่าซีสต์ไม่น่ากลัว เป็นถุงน้ำธรรมดา แต่ถ้าดูดน้ำออกจนหมดแล้วทำการคลำแล้วยังมีก้อนเหลืออยู่ แสดงว่าอาจจะเป็นก้อนเนื้องอกอยู่ในซีสต์ ถ้าเป็นแบบนี้ถึงจะน่าตกใจ แต่ก็พบได้น้อย เพราะคนไข้ส่วนใหญ่พอใช้เข็มเจาะเอาน้ำออกซีสต์ก็ยุบไป

ในกรณีที่เป็นก้อนเนื้อ ใช้เข็มเจาะเข้าไปจะไม่ได้น้ำเลย แต่จะทำการดูดเซลล์ออกมา เพื่อนำไปย้อมดูว่าเป็นเซลล์ชนิดไหน ขณะเดียวกันแพทย์จะส่งคนไข้ไปเอกซเรย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าอายุมากหรืออายุน้อย ถ้าอายุน้อยยังไม่ถึง 35 ปีก็อาจจะทำอัลตราซาวด์อย่างเดียว แต่ถ้าอายุมากเกิน 35 ปีไปแล้วอาจจะทำทั้งแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ สาเหตุที่ไม่ทำแมมโมแกรมในคนที่อายุน้อยเพราะว่าเนื้อเต้านมยังแน่น การทำฟิล์มแมมโมแกรมบางทีมองไม่เห็นเพราะเห็นเป็นสีขาวเต็มไปหมด อัลตราซาวด์อย่างเดียวก็พอ จากนั้นนำผลที่ได้มาประกอบการวินิจฉัย

กรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง การคลำโดยแพทย์ที่มีประสบ การณ์ก็จะพอบอกได้ แต่การวินิจฉัยจะต้องนำเซลล์ที่ใช้เข็มฉีดยาดูดออกมาไปเรียกว่าทำ ไฟน์นีดเดิล แอสพิเรชั่น (Fine Needle Aspiration: FNA) และดูผลเอกซเรย์ประกอบด้วย รวมเรียกว่า ทริปเปิลเทสต์

เวลามีก้อนสิ่งสำคัญเลย คือ แพทย์จะต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นมะเร็ง หรือเปล่า ถ้าเป็นซีสต์ก็จบเลยไม่ต้องผ่าตัด แค่เอาเข็มเจาะ เอกซเรย์ก็พอแล้ว แต่บางครั้งการใช้เข็มฉีดยาเล็ก ๆ เจาะเข้าไปเอาเซลล์เล็ก ๆ มาตรวจสอบแล้วไม่ได้คำตอบ จะต้องใช้เข็มที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเจาะเข้าไป ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อเยอะขึ้น มาเป็นแท่ง ๆ เลยความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร แล้วนำมาตรวจดูว่าใช่มะเร็งหรือไม่ ถ้าเป็นมะเร็งก็จะต้องรักษาแบบมะเร็ง แต่ถ้าดูแล้วไม่เป็นมะเร็งน่าจะเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ถ้าก้อนใหญ่ 2-3 เซนติเมตรก็ควรผ่าเอาก้อนเนื้อออก แต่ถ้าก้อนเล็กมาก ๆ น้อยกว่า 1 เซนติเมตร หรือ 1-2 เซนติเมตร ก็ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่ากังวลหรือไม่ แต่แพทย์จะมีผลยืนยันว่าไม่ใช่มะเร็งนะ ถ้ากังวลก็เอาออก แต่ถ้าไม่กังวลก็ติดตามดูอาการต่อไป

ถ้าเป็นถุงน้ำอย่างเดียวแล้วใช้วิธีการผ่าตัด ถามว่าคุ้มมั้ย ก็ต้องบอกว่าไม่คุ้ม เพราะแม้จะผ่าตัดออกแล้วอาจจะเป็นตรงจุดอื่นได้อีก ทำให้กลายเป็นว่าคนไข้มีแผลที่เต้านมเต็มไปหมด สมัยก่อนคนที่เป็นซีสต์มาพบแพทย์ ด้วยความที่ยังไม่มีการเอกซเรย์ พอมีก้อนไม่รู้ก็ผ่าตัดเอามาดู แต่ตอนนี้การผ่าตัดน้อยลง แพทย์จะใช้เข็มเจาะดูก่อนว่าเป็นอะไร ทำให้ลดเปอร์เซ็นต์คนไข้ที่จะต้องผ่าตัดลงได้ถึง 80%

ถ้าปล่อยซีสต์ทิ้งไว้ไม่รักษามีโอกาสจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ? พ.ญ. เยาวนุช กล่าวว่า ซีสต์ธรรมดาไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็ง เว้นแต่ซีสต์ที่ข้างในเป็นเนื้องอก ดังนั้นการทำ FNA จะเป็นตัวบอกว่าเป็นซีสต์ธรรมดาหรือเป็นเนื้องอก ความจริงแล้วซีสต์เป็นโรคที่ไม่น่ากลัว แต่เป็นโรคที่น่ารำคาญใจสำหรับคนไข้มากกว่า เพราะว่าตัวโรคที่เป็นซีสต์ไม่ค่อยหาย แต่คนไข้จะกังวลอยากให้ผ่าตัดเอาออก คนเป็นซีสต์ที่มาหา หมอ ส่วนหนึ่งเพราะคลำเจอก้อน แต่อีกกลุ่มหนึ่งมาเพราะมีอาการปวด โดยเฉพาะก่อนมีประจำเดือนจะปวดมาก เวลาปวดก็ต้องดูว่าปวดมาก หรือน้อย ถ้าปวดมากก็ให้ทานยาแก้ปวดทั่ว ๆ ไป หรือทานอาหารเสริมบางชนิด แต่ถ้าปวดมากจนรบกวนการดำเนินชีวิต ในกลุ่มนี้จะให้ยาลักษณะต้านฮอร์ โมน แต่จะไม่ให้ทุกราย เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เว้นแต่รายจำเป็นจริง ๆ ถ้าปวดไม่มากก็แนะนำให้ไปออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการทานอาหารประเภทที่มีไขมันเยอะ หลีกเลี่ยงการเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เพราะมีการศึกษาพบว่า ในคนที่มีซีสต์ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมาก ๆ อาการปวดอาจจะมากขึ้น

ก้อนซีสต์และมะเร็งจะต่างกันอย่างไร ? พ.ญ.เยาวนุช อธิบายว่า ถ้าเป็นซีสต์ก้อนจะนิ่ม ๆ แต่ถ้าซีสต์ที่มีเนื้องอกอยู่ข้างใน ที่เรียกว่า ไฟโบรอะดีโนมา ก้อนจะแข็งขึ้นมาอีกนิด แต่ไม่ถึงกับแข็งมาก แต่ถ้าเป็นมะเร็งจะแข็งมากและขรุขระ การคลำโดยแพทย์ที่ชำนาญก็พอจะบอกได้คร่าว ๆ แต่ไม่ 100% ดังนั้นต้องทำการเอกซเรย์เต้านมและนำเซลล์ไปตรวจด้วย

นอกจากผู้หญิงที่คลำได้ก้อนบริเวณเต้านมแล้ว ในผู้ชายถ้าคลำแล้วพบก้อนที่เต้านม พ.ญ.เยาวนุช บอกว่า ควรรีบมาตรวจ เพราะถ้าผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมมักจะรุนแรงกว่าผู้หญิง โดยใน 100 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมจะเป็นผู้ชายซัก 1 คน ดังนั้นถ้าพบก้อนอย่าเพิกเฉยว่าเป็นก้อนธรรมดา

กะเทยที่กินฮอร์โมน หรือยาคุม เพื่อให้นมโตเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่เต้านมหรือไม่ ? พ.ญ.เยาวนุช กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งในกะเทยยังมีน้อย จึงยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ชัดเจน ถามว่ามีโอกาสเสี่ยงมั้ย ถ้าเทียบเคียงกับผู้หญิงที่ทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนมากกว่า 5 ปี หรือ 10 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมชัดเจน เพราะฉะนั้นในกลุ่มที่เป็นกะเทย ที่นิยมซื้อยาคุมมากินและกินนานถ้าเทียบเคียงกับผู้หญิงที่กินยาคุมติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วน่าจะเพิ่มความเสี่ยง

ท้ายนี้อยากแนะนำสุภาพสตรีทุกคน คือ ถ้าเริ่มมีประจำเดือนเมื่อไหร่ ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเองทุก ๆ เดือน รวมทั้งคลำบริเวณรักแร้ว่า มีอะไรผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีอะไรผิดปกติไม่แน่ใจควรรีบมาพบแพทย์ ถ้าอายุเกิน 20 ปีไปแล้วทุก ๆ 3 ปีควรมาให้แพทย์ช่วยตรวจดู ส่วนการทำแมมโม แกรมนั้น จะเริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปไว้สักครั้ง และหลังจากอายุ 40 ปีไปแล้วจึงค่อยทำทุก ๆ 1-2 ปี.

ก้อนที่เต้านม ไม่เจ็บซิน่ากลัว

ก้อนที่เต้านม ไม่เจ็บซิน่ากลัว รศ.นพ. อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ (Assoc. Prof. ADUNE RATANAWICHTRASIN)


ก้อนที่เต้านม ไม่เจ็บซิน่ากลัว
รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์

สาเหตุที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์เกี่ยวเนื่องกับโรคของเต้านมนั้นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ก้อนที่เต้านม และรองลงมา คือ อาการเจ็บเต้านม ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม มักจะเริ่มสังเกต และคลำที่เต้านม ส่วนหนึ่งจะพบก้อนร่วมด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่พบก้อน หรือไม่แน่ใจ แต่มักจะลงเอยด้วยการพบแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งมักจะมาพบแพทย์ค่อนข้างเร็ว ผิดกับผู้ที่มีก้อนที่เต้านม คลำได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ มักจะปล่อยเอาไว้เพราะคิดว่าไม่เป็นไร
ซีสมักจะเจ็บ ส่วนมะเร็งมักจะไม่เจ็บ

ในบรรดาก้อนที่พบที่เต้านมนั้น มีโรคกลุ่มหลัก ๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ ซีสเต้านม เนื้องอกเต้านม (ไม่ร้าย) และมะเร็งเต้านม ซีสที่เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โตก่อนรอบเดือนมา และเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยที่มีซีส มักจะเจ็บที่ก้อน ซึ่งผิดกับกลุ่มเนื้องอก หรือมะเร็ง ซึ่งมักจะไม่ค่อยเจ็บ พบว่า ร้อยละ 90 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ ผู้หญิงหลาย ๆ คน มีความเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ้บคงไม่เป็นไร และปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นมากแล้วจึงรู้สึกเจ็บได้
อาการอะไรที่เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม
ในผู้หญิงที่พบก้อนที่เต้านมตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ในหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี หากพบก้อนที่เต้านมมีโอกาสจะเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ 50
การพบกอ้นที่เต้านม ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหัวนม หรือมีเลือดออกที่หัวนม หรือมีก้อนที่รักแร้ เป็นอการเบื้องต้นที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านมได้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
ดังนั้น หากพบก้อนที่เต้านมไม่ว่าก้อนน้นจะเจ็บหรือไม่ก็ตาม ควรพบแพทย้ตรวจไม่ควรนิ่งนอนใจ

ซีสเต้านม คืออะไรกันแน่

ซีสเต้านม คืออะไรกันแน่
รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์

คำว่า ซีสเต้านม มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษของโรค หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงของเต้านม ที่เรียกว่า "Fibrocystic change" หรือ "Fibrocystic disease" ครับ ที่เรียกกัน 2 แบบ แต่ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ก็เพราะว่า ภาวะ fibrocystic นั้นไม่ใช่โรค แต่ในสมัยก่อนเรียกกันว่าเป็นโรคจนติดปากครับ

คำว่า fibrocystic(ไฟ-โบร-ซีส-ติค) เป็นภาวะที่เกิดมี ซีส(cyst) หรือที่แปลตรวตัวจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยว่า ถุงน้ำครับ

ในความเข้าใจของคนทั่วไป การมีก้อนอะไรที่เต้านม ก็เรียกว่า ซีส หมด ซึ่งอาจจะไม่ถูกนะครับ เพราะที่ว่าเป็นซีส นั้น หากไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ อาจไม่ใช่ซีส ตามความหมายทางการแพทย์ อาจเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งก็ได้ครับ ดังนั้น เมื่อมีใครเล่าให้ฟังว่าเป็น ซีสเต้านม ก็ควรจะถามยืนยันว่า หมอบอกว่าเป็นซีสหรึเปล่าครับ

ซีสเต้านม เหมือนหรือต่างกับซีสตามตัวที่อื่นหรือไม่?
อวัยวะอื่นก็มีซีสได้ "ซีส" หมายถึง พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกายนับแต่ผิวหนังลงไป จนถึงอวัยวะภายใน เมื่อใดก็ตามมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเกิดเป็นถุงขึ้น ก็เรียกว่า ซีส ข้างในซีส อาจจะมีส่วนประกอบเป็นน้ำ หรือ สารหลั่งจากต่อมของร่างกาย ขนาดของซีสอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรืออาจมองเห็น คลำได้ ซีสไม่ใช่เนื้องอก ส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งครับ
ซีสส่วนใหญ่ที่เรารู้จัก คือ ซีสที่ผิวหนัง ซึ่งปรากฏบนผิวหนังเป็นก้อนเล็กๆ และอาจจะมีลักษณะค่อนไปทางนูนๆ และบางครั้งมองไปแล้วเหมือนข้าวสุกที่เราบด หรือเรียกว่าฝีข้าวสุก ฝีข้าวสาร มักจะเกิดจากกันอุดตัดของต่อมไขมันที่ผิวหนัง ทำให้มีขี้ไคลสะสมอยู่ภายในถุงซีสนั้นครับ
ส่วนซีสที่เต้านม เป็นภาวะที่น้ำขังอยู่ในเนื้อเต้านม อยู่กันเป็นหย่อมๆ ทำให้เวลาตรวจดูจะพบเป็นถุงน้ำ หรือ เมื่อคลำจากภายนอก ก็ได้เป็นก้อนในเนื้อนม เล็กบ้างใหญ่บ้างครับ

สาเหตุของซีสที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านมมาจากสาเหตุใด?
สาเหตุที่แท้จริงบอกไม่ได้ อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงต่อมเต้านมในร่างกาย มีน้ำเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเต้านม รวมตัวเป็นถุงน้ำ สิ่งเหล่านี้มี การควบคุมโดยฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมน "เอสโตรเจน" ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมีอยู่ เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเต้านม และในที่สุดก็เป็นซีส มักจะพบว่า ซีสโตขึ้น และพบซีสได้บ่อยขึ้นในช่วงที่ประจำเดือนใกล้จะมา และซีสจะเล็กลง เมื่อประจำเดือนมาแล้ว

ลักษณะผิดปกติที่พอจะสังเกตได้
คนที่เป็นซีสที่เต้านม อาจมีจะมีปัญหาปวดบริเวณเต้านม อาจจะเจ็บหรือปวดเนื่องจากน้ำในซีส ดันเนื้อนมรอบข้าง ทำให้เต้านมตึง จึงเกิดอาการปวด และบางครั้งอาจจะคลำ พบก้อนที่เต้านมด้วยก็ได้ ก้อนที่เต้านม อาจมีได้หลายตำแหน่ง และอาจโตๆ ยุบๆ

ซีสเนื้อกับซีสน้ำ
"ซีส" โดยทั่วไปจะเป็นถุงน้ำ จะโตๆ ยุบๆ และสามารถยุบหายจนสนิทได้ แต่ในบางตำแหน่งของเต้านมที่เกิดซีสบ่อยๆ อาจมีการอักเสบของเนื้อนม และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อนม จนกลายเป็นก้อนเนื้อได้ เรียกว่า ซีสเนื้อ

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นซีส
ก้อนที่เต้านมที่เป็นซีสจะโต ๆ ยุบๆ ตามรอบเดือน มะเร็งมักจะโตขึ้นเรื่อยๆ ซีสมักจะเจ็บ มะเร็งมักจะไม่เจ็บ ซีสมักจะนุ่มๆ หยุ่นๆ มะเร็งมักจะแข็ง ลักษณะดังกล่าวพบจะบอกได้คร่าวๆ ว่าเป็นซีส หรือ เป็นมะเร็ง

การตรวจอื่นๆ ที่พอจะบอกได้ว่าเป็นซีส หรือ ก้อนเนื้อ ก็คือ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ซึ่งจะบอกได้ว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นน้ำ หรือ เป็นเนื้อ อีกวิธีหนึ่งก็คือ การใช้เข็มฉีดยา เจาะดู หากเป็นซีสน้ำจะได้น้ำออกมา และก้อนยุบหายไป

เป็นซีสแล้ว จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่
ซีสเต้านม ส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ซีสที่เกิดขึ้นมีความผิดปกติ ตั้งแต่ต้น ที่มีลักษณะเป็นมะเร็งเต้านม การจะทราบได้หรือไม่ว่า ซีสที่เป็นนั้น มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นหรือไม่ ที่แน่นอนจะต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ แต่โดยทั่วไป แพทย์สามารถบอกได้ว่า ลักษณะของซีสที่เกิดขึ้น ส่อเค้าว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่

เมื่อไร เป็นซีส และไม่ต้องผ่าตัด
การพบก้อนที่เต้านม หากแพทย์แน่ใจว่าว่าเป็นซีส เช่น พบว่าเป็นซีสน้ำ จากการเจาะดูด หรือ จากการตรวจอัลตราซาวด์, ก้อนซีสที่ยุบลงได้เอง ซึ่งจัดในกลุ่มที่ไม่ใช่มะเร็ง จะไม่ต้องผ่าตัด แต่หาก ซีสที่พบมีส่วนที่เป็นเนื้อปนอยู่ หรือเป็นซีสเนื้อ แพทย์จะพยายามพิสูจน์ว่าก้อนที่พบนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ หากไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่ใช่มะเร็ง แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อพิสูจน์ชิ้นเนื้อจะด้วยการผ่าตัด หรือ ด้วยการเจาะเนื้อดูก็ได้
ดังนั้น หากรู้แน่ว่าเป็นซีส ก็ไม่ต้องผ่าตัด แต่หากไม่แน่ใจ แพทย์จะพยายามพิสูจน์ให้รู้ว่าเป็นซีส หรือ เป็นมะเร็ง
จะมีโอกาสกลับมาเป็นซีสได้อีกหรือไม่เนื่องจากสาเหตุการเกิดซีสไม่แน่นอน และพบว่ามีการเกิดที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ดังนั้น ซีส จึงอาจกลับมาเป็นได้อีก ทั้งในจุดเดิม และที่ใหม่ การรักษาซีส จึงไม่ใช่การผ่าตัด เพราะตัดออกก็เป็นใหม่ได้ การรักษาซีส จึงเป็นการรู้จักกับซีส และรู้ว่าเมื่อไร ก้อนในเต้านมจะเป็นมะเร็งไม่ใช่ซีสต่างหาก

หากท่านไม่แน่ใจ... ว่าก้อนที่เต้านมที่ตรวจพบเป็นซีส หรือเป็นมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์

ซีสเต้านม

ซีสเต้านม
ผศ.นพ.วารินทร์ ตัณศุภศิริ
ภาควิชาศัลยศาสตร์

สาเหตุของโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร
ซีสหมายถึง พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกายนับแต่ผิวหนังลงไป จนถึงอวัยวะภายในที่จะเกิดซีสขึ้นได้ ซีสไม่ใช่เนื้องอก โอกาสที่ซีสจะเป็นมะเร็งได้ นั้นหมดปัญหา ซีสเป็นพยาธิสภาพที่เกิดการเปลี่ยนแปลงและก่อรูปร่างเป็นถุง ข้าง ในอาจจะมีส่วนประกอบเป็นน้ำ ขนาดของซีสอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าหรืออาจ มองเห็นซีสที่เกิดขึ้นแม้แต่ในเต้านมก็เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ มะเร็งหรือไม่

โรคซีสเกิดขึ้นบริเวณใดบ้างที่พบเป็นส่วนใหญ่
ซีสที่เกิดขึ้นจากผิวหนังของร่างกายที่เรารู้จักกันดี ซึ่งภาษาชาวบ้านเรียกว่า ฝีซึ่งปรากฏบนผิวหนังเป็นก้อนเล็ก ๆ และอาจจะมีลักษณะค่อนไปทางนูน ๆ และ บางครั้งมองไปแล้วเหมือนข้าวสุกที่เราบด หรือเรียกว่าฝีข้าวสุก ฝีข้าวสาร นี่คือซีส ซึ่งเกิดขึ้นบนผิวหนัง ซีสสามารถเกิดขึ้นได้ทุกอวัยวะของร่างกาย ใต้ผิวหนังก็มีได้ แม้แต่อวัยวะภายใน ในตับ ในไต ก็สามารถจะมีซีสได้เช่นเดียวกัน ภายนอกอาจจะ เป็นซีสที่เกิดขึ้นจากเต้านมที่เราคลำพบได้ ก็อาจจะเกิดขึ้นที่ต่อมไธรอยด์ ก็อาจจะ มีซีสเกิดขึ้นได้ ซีสจะมีลักษณะโปร่งเป็นต้น

สาเหตุของซีสที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านมมาจากสาเหตุใด
สาเหตุที่แท้จริงบอกไม่ได้ อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงต่อม เต้านมในร่างกาย รวมทั้งถุงน้ำ ส่วนที่เป็นต่อม เป็นท่อ ที่อยู่ในเต้านม สิ่งเหล่านี้มี การควบคุมโดยฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมน อีซูเย่น ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมีอยู่ เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา และในที่สุดก็เป็นซีส

สาเหตุของพันธุกรรมเป็นส่วนเสริมด้วยหรือเปล่า
ไม่เกี่ยวข้องแต่ในซีสในเต้านมเกิดจากพยาธิสภาพ จากสถิติที่คณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รวบรวมสถิติจากการตรวจพยาธิสภาพของคนไข้ ซีสเต้า นมพบว่าในช่วงเวลา 3 ปี มีคนไข้ 3,600 ราย ในรายที่อายุต่ำกว่า 30 ปีจะเป็นเนื้อ ร้ายมากกว่า ส่วนซีสที่เต้านมมีคนไข้เป็นจำนวน 85%

ซีสในเต้านมสามารถเป็นกับผู้ชายได้หรือเปล่าพบได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้ชายจะพบได้น้อยมาก แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าชายผู้นั้นมีฮอร์โมนสตรีมาก แต่มีเพียง 1 ใน 100 เท่านั้น

ลักษณะผิดปกติที่พอจะสังเกตได้
อาการอาจมีขึ้นได้ จะมีปัญหาปวดบริเวณเต้านม อาจจะเจ็บหรือปวดเนื่อง จากภาวะปรับเปลี่ยนฮอร์โมนหรือมีรอบเดือน ในระยะนั้นจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพศ ชายมากขึ้น บางครั้งอาจจะไม่ถึงขั้นที่จะเป็นซีส อาจจะมีอาการปวดทำให้สตรีนั้น ไปพบแพทย์และตรวจ ถ้าซีสมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 ซ.ม. สามารถตรวจ พบได้ง่ายด้วยการคลำ

วิธีการตรวจหาซีสเองทำอย่างไรได้บ้าง
วิธีแรก ให้ความรู้กับสตรีในเรื่องของซีสและมะเร็งเต้านม โดยการตรวจร่าง กายตนเอง
วิธีที่สอง คลำเต้านมด้วยตนเอง โดยการนอบราบ อาจขอคำแนะนำจาก แพทย์ได้

วิธีการรักษาซีสเต้านมมีดังนี้
- ควรพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษาขอตรวจวินิจฉัยโรค
- สังเกตุการเปลี่ยนแปลงของคนไข้และนัดมาตรวจเป็นระยะทุก ๆ หนึ่งเดือนสาม เดือน
- ถ้ามีอาการมาก อาจจะใช้ยาเข้าไปช่วย และใช้ฮอร์โมนในการรักษาซีสเต้านมเป็นยาที่มีราคาค่อนข้างแพง
- ผ่าตัดเอาซีสออกหรือวิธีการเจาะเอาซีสออก ถ้าเกิดขึ้นอีกสามารถเจาะได้อีก

จะมีโอกาสกลับมาเป็นซีสได้อีกหรือไม่
ในจุดเดิมอาจจะไม่เป็น แต่อาจจะเกิดขึ้นในบริเวณอื่นได้ ถ้าไม่ตัดออกหมด จะไม่หายขาด

วิธีการป้องกันโรคซีส
การป้องกันจะป้องกันได้ถ้าทราบสมมุติฐานที่แน่นอน โดยการหลีกเลี่ยง แต่ ส่วนใหญ่แล้วจะป้องกันไม่ได้ ควรจะเอาใจใส่ตนเองเมื่อเป็น แล้วควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษา

ข้อแนะนำ สุขภาพสตรีมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงมาก เพราะฉะนั้นควรมีการ ตรวจเต้านมทุกปี

เนื้องอกเต้านม ในหญิงสาว

เนื้องอกเต้านม ในหญิงสาว

รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
ภาควิชาศัลยศาสตร์

ในสุภาพสตรีที่อายุยังน้อย วัย 10 กว่า หรือ 20 กว่าปี เมื่อพบก้อนที่เต้านม มักจะรู้สึกอายหมอ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี แต่ก็กลัวว่าจะเป็นมะเร็ง เพราะได้ยินเรื่องมะเร็งเต้านมบ่อยๆ ลองมาดูซิครับว่า จะมีแนวทางอย่างไร เกี่ยวกับก้อนที่เต้านมที่พบนี้
เนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา พบได้บ่อยในหญิงสาว

จากข้อมูลทางสถิติ พบว่า ก้อนเนื้อในเต้านมหญิงสาว ส่วนใหญ่เป็น เนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา ซึ่งมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า ไฟโบรแอดิโนมา (fibroadenoma) ลักษณะของก้อนที่พบ มักจะเป็นก้อนเพียงก้อนเดียว (มีเพียง 5 % เท่านั้นที่พบหลายก้อน) ก้อนที่พบมักจะไม่เจ็บ ขอบเขตกลมเรียบคล้ายลูกชิ้น กลิ้งไปมาได้ การเปลี่ยนแปลงของก้อนมักจะเป็นไปอย่าช้าๆ คือ โตขึ้นเพียงเล็กน้อย แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายๆ เดือนก็ตาม พบได้ตั้งแต่ก้อนเล็กกว่า 1 เซนติเมตร จนถึงขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตรก็มี

เป็นโรคอื่นได้หรือไม่
โรคอื่นๆ ที่พบในหญิงสาวแต่ไม่บ่อยเท่า ได้แก่ ซีสเต้านม (fibrocystic change) และ มะเร็งเต้านม ซึ่งทั้ง 2 โรคจะมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากเนื้องอกธรรมดา คือ ซีสเต้านม มักจะโตขึ้นเมื่อใกล้รอบเดือน แต่จะเล็กลงหลังจากรอบเดือนมาแล้ว ขณะที่มะเร็งเต้านม จะโตขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาอันสั้น

จะพิสูจน์อย่างไร ว่าเป็นเนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้าย
การตรวจเพิ่มเติมที่จะช่วยในการยืนยันว่าเป็นเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวด์(ultrasound) ซึ่งจะเห็นเป็นลักษณะก้อนเนื้อที่มีขอบเขตชัดเจน และการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะนำเซลล์ไปตรวจ (fine needle aspiration) ทั้งสองวิธี ร่วมกับลักษณะอาการ และการตรวจร่างกาย ก็จะบอกได้ค่อนข้างแน่นอนว่า ก้อนที่ตรวจพบเป็นเนื้องอกธรรมดา

รักษาอย่างไร
ก้อนเนื้องอกธรรมดาของเต้านม มักจะไม่หายเอง ดังนั้นจึงต้องผ่าตัดออก แพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดออก ตั้งแต่เมื่อก้อนนั้นยังไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะจะได้ไม่ต้องเกิดแผลจากการผ่าตัดขนาดใหญ่ มักจะใช้การผ่าตัดโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ การผ่าตัดนั้น ไม่ใช่การผ่าตัดที่เร่งด่วน สามารถนัดวันเวลาที่แพทย์และผู้ป่วยมีความพร้อมได้
ในกรณีที่ก้อนนั้นมีขนาดใหญ่มาก อาจต้องผ่าตัดโดยการวางยาสลบ ในปัจจุบันมีเทคนิคที่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา ที่มีขนาดใหญ่ ออกโดยใช้แผลขนาดเล็ก 2-3 เซนติเมตร

ผ่าตัดแล้วหายหรือไม่
ก้อนเนื้องอกเต้านม เมื่อผ่าตัดออกแล้ว ก้อนนั้นก็หายไป มีโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำที่เดิม หรือ มีก้อนขึ้นที่อื่นอีก ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ที่เป็นเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา

จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่
ยังไม่พบรายงานว่าหากทิ้งก้อนเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดาไว้ จะกลายเป็นมะเร็ง แต่หากก้อนนี้พบในผุ้สูงอายุ อาจเป็นก้อนที่เป็นมะเร็งได้ เพียงจากลักษณะทางคลินิกและการตรวจพบเหมือนก้อนเนื้อที่ไม่ร้าย ดังนั้น หากก้อนโตขึ้น ควรได้รับการผ่าตัดออก หากยังไม่อยากผ่าตัดออก ควรมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้อนี้เป็นระยะๆ

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดอันหนึ่งในผู้หญิง

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดอันหนึ่งในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการตาย ที่สำคัญของผู้หญิง อัตราเฉลี่ยของผู้หญิงที่เป็น พบประมาณ 1 ใน 9 ของผู้หญิงทั้งหมด


สาเหตุของมะเร็งเต้านม



มีหลายปัจจัยทีเชื่อว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม คือ


พันธุกรรม เชื่อว่า มะเร็งเต้านม ประมาณ 30% มีการสัมพันธ์กับ ประวัติครอบครัว หรือ ยีน
อาหาร พบว่า การทานอาหารที่ไขมันสูง อาหารทอด อาจเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมได้ (รายงานของ National Cancer Institute)
Hormone พบว่า การใช้ Hormoneใน เพศหญิงเช่นการทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อย ทานเป็นเวลานานๆ อาจเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านม การให้Hormone ทดแทน ในหญิงวัยทอง ก็สามารถเพิ่มอุบัติการณ์การเป็นมะเร็งเต้านมเล็กน้อยเช่นเดียวกัน
ความอ้วน พบว่า ผู้หญิงที่อ้วน โดยเฉพาะในช่วงหลังหมดประจำเดือน เพิ่มอุบัติการณ์ การเป็นมะเร็งเต้านม 1.5-2.0 เท่า
การให้นมลูก สมัยก่อนเคยมีรายงานว่าผู้หญิงที่เคยให้นมลูกมากกว่า 36 เดือนทั้งชีวิต จะลดการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ปัจจุบันไม่เชื่อทฤษฎีนี้แล้ว
การเข้าสู่ระยะหมดประจำเดือน พบว่าการเข้าสู้ระยะหมดประจำเดือนเร็ว เช่นประจำเดือนหมด ตั้งแต่อายุก่อน 45 ปี โอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมจะน้อยกว่าคนที่ประจำเดือน หมดช้า เช่น ประจำเดือนหมดอายุ 55 ปี ถึง 2เท่า
การมีบุตร พบว่าในคนที่ไม่มีบุตร มีอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งมากกว่าคนมีบุตร 30-70% ยิ่งมีบุตรคนแรกอายุน้อยอุบัติการณ์จะยิ่งลดลง แต่ถ้ามีบุตรคนแรกอายุมากกว่า 30 ปี โอกาสเป็นมะเร็ง ก็จะสูงขึ้น
มีเนื้องอกที่อื่น พวกนี้มักมีเรื่องของพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง โอกาสที่มีมะเร็งเต้านมก็จะสูงขึ้น
กัมมันตรังสี โดนรังสีมากๆ อุบัติการณ์สูงขึ้น ตอนนั้นพบว่าคนที่อยู่ที่ญี่ปุ่นใกล้เมือง ที่โดนระเบิดปรมาณู เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น แต่สำหรับ การฉาย X-ray พบอุบัติการณ์ที่จะเป็นมะเร็งน้อยกว่า 1% ดังนั้นคงไม่ต้องกลัวครับ
ลักษณะของก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านม ดูได้ที่นี่ครับ





การรักษา



ปัจจุบัน เชื่อว่า มะเร็งเต้านม ไม่ใช่โรคที่เป็นเฉพาะที่ แต่เชื่อว่าเป็นโรคทั้งระบบของร่างกาย (Systemic Disease) ดังนั้น ในการรักษา การผ่าตัดอาจไม่เพียงพอ อาจต้องมีการให้ เคมีบำบัด หรือ การใช้ Hormone ช่วยในการรักษา

การผ่าตัดปัจจุบันที่ทำกันบ่อยๆ มี 2 ชนิด คือ


ตัดเต้านมออกทั้งหมด คือจะตัดเต้านมข้างที่เป็นมะเร็งออกทั้งหมดรวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปด้วย เป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่ทำกันอยู่
ตัดเต้านมออกบางส่วน
จุดประสงค์ก็คือ ต้องการเก็บเต้านมไว้เพื่อความสวยงาม โดยอาจตัดออกไปกว้างขึ้น บริเวณที่ก้อนเนื้องอกอยู่ แต่ว่าการผ่าตัดชนิดนี้ ไม่สามารถทำได้ใน ผู้ป่วยทุกคน จะสามารถทำได้ในกรณีที่
ก้อนไม่ใหญ่มาก
ยังคลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
ก้อนไม่ได้อยู่ตรงกลางหรือใกล้หัวนม
ผ่าแล้วเต้านมที่เหลือต้องดูสวย เพราะจุดประสงค์ใหญ่คือ ความสวยงาม ด้วย นั่นคือ ถ้า เอาเนื้องอกออกแล้ว เต้านมผิดรูปมาก ไม่สวย ไม่ควรทำวิธีนี้
หลังจากผ่าตัดแบบไม่ตัดเต้านมออกทั้งหมด ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉายแสงที่บริเวณเต้านมที่เหลือ

ส่วนเรื่อง เคมีบำบัด การใช้ Hormone คงต้องดูระยะของโรค ชนิดของ Cell ซึ่งการผ่าตัดทั้ง 2 ชนิด ก็ยังต้องรับการรักษาต่อเหมือนกัน


สรุป ถ้า เอาเต้านมออกหมด ไม่ต้องฉายแสง แต่ถ้า เก็บเต้านม ต้องฉายแสง


การป้องกัน



การป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การค้นหาโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการเพื่อจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลาม


การตรวจเต้านมด้วยตนเอง



ช่วงไหนที่เหมาะ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง จริงๆแล้วสามารถตรวจได้ทุกวัน แต่พบว่าช่วง 7 วันหลังมีประจำเดือน ช่วงนี้เต้านมจะไม่ตึงจนเกินไป จะทำให้ตรวจง่าย

เริ่มเมื่อไหร่ดี?
จริงๆ เราสามารถคลำได้ทุกวันที่มีโอกาส เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีเลยก็ได้ครับ ส่วนเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป(หรือ 30ปี ขึ้นไปในคนไข้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ก็ ไปทำ Mammogram ปีละครั้ง ไปเรื่อยๆครับ; )

ตรวจอย่างไร
การตรวจเต้านมด้วยตนเองมี 3 วิธี




1.ยืนหน้ากระจก
-ปล่อยแนบข้างลำตัวตามสบาย เปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนม ความสูงต่ำ ของหัวนม หรือ สิ่งผิดปกติอื่นๆหรือไม่
-ประสานมือทั้ง 2 ข้างเหนือศรีษะแล้วกลับมาอยู่ในท่าท้าวสะเอว พร้อมทั้งดูสิ่งที่ผิด ปกติ
-ให้โค้งตัวมาข้างหน้าโดยใช้มือทั้ง 2 ข้าง วางบนเข่า ในท่านี้เต้านมจะห้อยลงไปตรง อาจมองเห็นความผิดปกติได้ชัดมากขึ้น
2.นอนราบ
-นอนในท่าที่สบายแล้วสอดหมอน หรือม้วนใต้ผ้าใต้ไหล่ซ้าย
-ยกแขนด้านเดียวกับเต้านมที่จะตรวจเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบซึ่งจะ ทำให้ คลำพบ ก้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอก ซึ่งมีเนื้อนมหนามากที่สุด และเกิดมะเร็งบ่อยกว่าส่วนอื่น
-ให้ใช้ 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และ นิ้วนาง คลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกว่ามีก้อน ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่





3.ขณะอาบน้ำ
-สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก
ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านม ที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำ ในทิศทางเดียวกับที่คลำในท่านอน
-สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้มือข้างนั้นประคองและตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้คลำจากด้านบน
วิธีการคลำมีดังนี้




การคลำในแนวก้นหอย
-โดยเริ่มจากส่วนบนไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่งถึงฐานเต้านมบริเวณรักแร้
การคลำในแนวขึ้นลง
-เริ่มจากใต้เต้านมถึงรักแร้แล้วขยับนิ้วทั้ง 3 คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อยๆจนทั่วทั้งเต้านม





การคลำในแนวรูปลิ่ม
-เริ่มจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐานแล้วกลับสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อยๆให้ทั่วทั้งเต้านม
โดย นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ศัลยแพทย์


*+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++*
ใครที่อยู่ในความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม?

ผู้หญิงที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ เช่น แม่ พ่อหรือน้องสาว และลูกสาว อัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม จะเพิ่มขึ้นตามอายุและเพิ่มขึ้นมากในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้เป็นมะเร็งเต้านมได้อีก เช่น เคยมีก้อนเนื้องอกที่เต้านม เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาแล้วข้างหนึ่ง เคยได้รับรังสี เคยเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ เป็นโรคอ้วน เต้านมถูกกระทบกระเทือนอยู่เสมอ และในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

การตรวจหาเซลล์มะเร็งเต้านม

ทำได้หลายวิธีขึ้นกับหมอจะเห็นเหมาะสม เช่น การนำชิ้นเนื้อไปตรวจที่เรียกว่า Biopsy การเอ็กซ์เรย์เต้านมแบบ Mammogram ที่ช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อของเต้านมได้

หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับคุณ สิ่งที่ควรทำคือ
พยายามเรียนรู้ทุก ๆ อย่างเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม รวมทั้งวิธีการรักษาด้วย
ถามทุกเรื่องที่มีความสงสัย และยังไม่เข้าใจ ควรขอคำแนะนำและความเห็นจากคุณหมอที่ดูแลคุณ
หาโอกาสคุยกับคนที่เคยรักษามะเร็งเต้านมมาแล้ว
พัฒนาการของโรค

การจะแน่ใจว่าเป็นมะเร็งเต้านมต้องผ่านการตรวจหลายวิธี เพื่อวัดขนาดของก้อนมะเร็ง ตรวจการแพร่กระจาย เพื่อตรวจหาระยะของมะเร็ง (staging) เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ตามปกติแล้วระยะของมะเร็งจะแบ่งได้ดังนี้
stage 0 เป็นระยะที่มะเร็งยังไม่ลุกลาม พบเซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะในท่อน้ำนม
stage 1 ก้อนมะเร็งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2 เซนติเมตร ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านม
stage 2 ก้อนมะเร็งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 2 เซนติเมตร หรือลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว
stage 3 ก้อนมะเร็งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 5 เซนติเมตร หรือลุกลามไปถึงผิวหนัง ผนังอก หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
stage 4 มะเร็งลุกลามไปถึงกระดูก ปอด หรือต่อมน้ำเหลืองที่ห่างจากเต้านมแล้ว
นอกจากนี้ในบางคนยังมีโอกาสเกิดมะเร็งที่กลับมาซ้ำอีกแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว (Recurrent breast concer)

จัดการกับมะเร็งเต้านม

หากว่าสตรีที่มีความน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม ปกติแล้วหมอจะทำการตรวจจนได้ผลที่แน่ชัดจึงวางแผนการรักษา อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัด ซึ่งหลังจากนั้นจะรักษาเพื่อยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง ได้แก่ การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) หรือการรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormone therapy) การรักษาอาจจะใช้หลายวิธีร่วมกัน (Adjuvant therapy) หรือทางใดทางหนึ่งขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ซึ่งแต่ละคนและขั้นของโรคแตกต่างกัน

ในสตรีที่เกิดเป็นมะเร็งเต้านมหรือแม้กระทั่งเป็นโรคอื่น ๆ ที่นำความกังวลมาให้ ก็มักจะมีความปั่นป่วนทางจิตใจได้ โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ บางวันเธอผู้นั้นอาจจะรู้สึกเข้มแข็งมีกำลังใจสู้ แต่วันต่อมาเธออาจจะรู้สึกท้อแท้หวาดกลัว ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา คนรอบข้างและคนในครอบคัวจะต้องทำความเข้าใจสภาพจิตใจของเขาด้วย ทุกคนควรจะเป็นผู้ให้กำลังใจกับเธอ ให้คำปรึกษา เพื่อช่วยลดความวิตกกังวล อย่าลืมว่า มะเร็งเต้านมหากตรวจพบแต่แรก และรีบทำการรักษามีโอกาสรักษาให้หายขาดสูง

มะเร็งเต้านมฉันมีโอกาสเป็นหรือเปล่า

มะเร็งเต้านมฉันมีโอกาสเป็นหรือเปล่า
โดย... นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ศัลยแพทย์
คุณลองอ่านคำถามแล้วตอบคำถามทีละข้อ
1. คุณเป็นผู้หญิงหรือเปล่า เอ้ ! หมอพูดอย่างนี้ได้ยังไง ฉันก็ต้องกังวลแย่ซิ

อ๋อ คำถามข้อแรกหมอเพียงอยากจะบอกให้รู้ว่า ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม มากกว่าผู้ชายเท่านั้น โดยมีโอกาส 100 - 150: 1 คน คุณไม่ต้องตกใจ คุณรองอ่านคำถามข้อต่อไปก่อนนะครับ

2. คุณมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือเปล่า ญาติสายตรงนี่ มันคืออะไรนะคะหมอ

-ญาติสายตรงคือ แม่,พี่น้องท้องเดียวกัน อันนี้ถือว่าเป็นสายตรงลำดับที่ 1
- สายตรงลำดับที่ 2 เช่น ยาย,น้าสาว,ป้า ถ้าคคุณมีญาติ อย่างที่กล่าวข้างต้นเป็นมะเร็ง แล้วล่ะก็ คุณก็มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้นกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ แต่ไม่ใช่ว่าคุณต้องเป็นนะ แต่ที่หมอต้องการบอกคุณก็คือ คุณต้องตระหนัก โดยคุณจะต้องตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม อย่างละเอียด(ถี่ถ้วน) กว่าผู้หญิงคนอื่นๆ

3. คุณอายุเท่าไร จากสถิติการเป็นมะเร็งเต้านมของผู้หญิงไทย พบเป็นได้ตั้งแต่อายุ 20 - 80 ปี อายุน้อยที่สุด และอายุมากที่สุดที่หมอเขียนมาให้คุณดูนี้เพื่อให้ทราบว่า เป็นไปได้แค่ไหนที่คุณอาจจะเป็นมะเร็ง แต่ช่วงอายุที่พบว่าเป็นมะเร็งมากที่สุด คืออายุระหว่าง 40 - 49 ปี

4.คุณเคยได้รับการผ่าตัดก้อนเนื้องอกที่เต้านมหรือเปล่า ก่อนอื่นคุณหมอต้องพูดก่อนว่า ก้อนเนื้องอกที่เต้านมนั้นมีหลายอย่างเช่น ถุงน้ำ หรือซิสต์(Cyst) ซึ่งก็บอกแล้วว่าเป็นถุงจะมีน้ำอยู่ข้างใน ตัวคุณเคยเป็นเนื้องอกชนิดนี้ล่ะก็เบาใจได้เลยว่าคุณมีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยมาก

ก้อนเนื้องอกไฟรโบร(Fibroadenoma) เป็นเนื้องอกที่เต้านมที่พบได้มากชนิดหนึ่ง บางคนเป็นหลายก้อน พร้อมกัน,หรือเป็นทั้ง 2 ข้างเนื้องอกชนิดนี้ มีโอกาสจะเกิดกับคุณมากกว่าที่จะเป็นมะเร็ง แต่คุณก็ไม่ต้องตกใจเช่นกัน ถ้าคุณบังเอิญเป็นเนื้องอกชนิดนี้ เพราะว่ามันจะกลายเป็นมะเร็งน้อยมากเช่นกัน
ก้อนเนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็งผิดปรกติ (Atypical hyperplasia) ก้อนเนื้องอกชนิดนี้ไม่มีชื่อเรียกทางภาษาไทยที่เฉพาะเจาะจง แต่ถ้าคุณเป็นหมอที่ผ่าตัดให้คุณคงจะบอกว่าเซลล์ที่พบมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ใกล้เคียงที่จะเป็นมะเร็งแต่ยังไม่ใช่โดยเนื้องอกชนิดนี้ยังแบ่งความรุนแรงรุนแรงน้อยถึงรุนแรงมากซึ่งชนิดรุนแรงมาก (Severe Atypical hyperplasia)นี้เป็นชนิดที่คุณควรต้องระวัง เพราะว่ามีโอกาสที่คุณจะเป็นมะเร็งเพิ่มสูงมากขึ้น จึงควรได้รับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง


5.คุณแต่งงานหรือยัง ที่จริงการ แต่งงานหรือเปล่าไม่ใช่ปัจจัยต่อการเป็นมะเร็งเต้านมโดยตรง แต่ที่หมอถามคุณตรง นี้เพื่อให้เห็นภาพรวม เพราะว่ายังมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้

คุณมีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยกว่า 12 ปี
คุณแต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่อคุณอายุเกิน 30 ปี
สำหรับคุณที่ยังไม่ได้แต่งงาน………………คุณก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมาก กว่าคุณผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีบุตร (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยเพียงข้อเดียวไม่ใช่บอกว่าคุณ ต้องเป็นมะเร็ง หมอบอกไปเพื่อให้คุณตระหนักเท่านั้น


ปัจจัยที่อาจจะมีผลหรือคุณเชื่อมั่นว่ามีผล ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ อาจจะมีผลต่อการเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่ม ดังนี้

ยากินคุมกำเนิด ซึ่งคุณต้องกินติดต่อกันนานถึง 10 ปี โอกาสเสี่ยงจะเป็นมะเร็งมากกว่าคน ปกติเล็กน้อย
ยาฮอร์โมนรักษาทดแทน ยาชนิดนี้หญิงที่ได้รับมักจะได้รับการตัดมดลูกหรือรังไข่ เนื่องจาก สาเหตุใด ๆ ก็ตามและแพทย์ให้ทานฮอร์โมนเพื่อทดแทน ซึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเต้านมมากขึ้นเมื่อคุณทานติดต่อกันมากกว่า 10 ปี
การผ่าตัดเสริมเติมแต่งเต้านม ถ้าการผ่าตัดนั้นๆ ไม่มีสารแปลกปลอมที่อันตรายก็ยังไม่มีข้อ มูลทางวิชาการที่ชี้ชัดว่าจะเป็นสาเหตุการเป็นมะเร็งเต้านม
การบาดเจ็บหรือการได้รับการกระแทกจนมีรอยช้ำ หรือการเป็นน้ำหนองที่เต้านม ซึ่งมักพบ ในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ให้นมบุตร ก็ยังไม่พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น

จากทั้งหมดที่กล่าวมาหมอพอจะสรุปให้คุณทราบดังนี้ คือคุณต้องตรวจตัวเองก่อนว่ามีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นหรือไม่ ถ้ามีคุณควรหาเวลาไปพบแพทย์บ้างได้แล้ว แต่ถ้าไม่มีคุณควรปฏิบัติดังนี้
อายุ < 20 ปี คุณควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยทุก ๆ เดือน
อายุ < 40 ปี คุณควรให้แพทย์ตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง
อายุ > 40 ปี คุณควรได้รับการตรวจด้วยแพทย์ทุกปีและตรวจเอกซเรย์เต้านม ทุก 1 - 2 ปี/ ครั้ง

แหล่งข้อมูล
American College of Physicians. Screening for breast cancer (approved July 15,1995). Ann Intern Med 1996
www. Inaginia.com
NEEN Practice Guideline for Breast Cancer Screeing V.L.2003
การตรวจเพื่อคัดกรองเต้านม
H.Sripluns. S.Sontipong, N.Marlin ef al Cancer in Thailand vol. (47-48),1995-1997